เมนู

อรรถกถาอกิตติวรรคที่ 1


1. การบำเพ็ญทานบารมี


อรรถกถาอกิตติจริยาที่ 1


ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงยังอุตสาหะในการฟัง บุรพ-
จริยาของพระองค์ให้เกิดแก่ท่านพระสารีบุตรเถระ และแก่บริษัทกับทั้ง
เทวดาและมนุษย์แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงกระทำบุรพจริยานั้นซึ่งปกปิดไว้ใน
ระหว่างภพให้ประจักษ์ ดุจมะขามป้อมในฝ่ามือ ฉะนั้นจึงตรัสพระดำรัสมี
อาทิว่า :-
ในกาลใดเราเป็นดาบสชื่ออกิตติเข้าไป
อาศัยอยู่ในป่าใหญ่อันว่างเปล่า สงัดเงียบ
ปราศจากเสียงอื้ออึง.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ยทา คือ ในกาลใด. บทว่า พฺรหารญฺเญ
คือ ในป่าใหญ่ อธิบายว่า ในป่าใหญ่ชื่อว่า อรัญญานี. บทว่า สุญฺเญ
ว่างเปล่า คือ สงัดจากชน. บทว่า วิปินภานเน คือ ป่าเล็ก ๆ อันสงัด
เงียบ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความเงียบของป่านั้นด้วยสองบท บท
ทั้งหมดนั้นท่านกล่าวหมายถึงการทวีป. บทว่า อชฺโฌคาเหตฺวา คือเข้าไป
อาศัย. บทว่า วิหรามิ คือเรากำจัดทุกข์ของร่างกายอยู่ยังอัตภาพให้เป็นด้วย

อิริยาบถวิหารอันวิเศษกว่าสุขที่เกิดจากอาเนญชวิหาร คือการอยู่ไม่หวั่น
ไหว ที่เป็นของทิพย์ เป็นของพรหม เป็นของอริยะ. บทว่า อกิตฺติ นาม
ตาปโส
คือในกาลใดเราเป็นดาบสมีชื่ออย่างนี้อยู่ในป่านั้น. ในกาลนั้น
พระศาสดาตรัสถึงความที่พระองค์เป็นดาบสชื่ออกิตติ แก่พระธรรมเสนาบดี.
มีกถาเป็นลำดับดังต่อไปนี้ :-
ได้ยินว่า ในอดีตกาล ภัทรกัปนี้แล ครั้นเมื่อพระเจ้าพรหมทัต
เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์
มหาสาล มีสมบัติ 80 โกฏิ มีชื่อว่า อกิตติ. เมื่ออกิตติเดินได้น้องสาวก็เกิด
มีชื่อว่า ยสวดี. เมื่ออกิตติมีอายุได้ 15 ปีก็ไปเรียนศิลปะทุกอย่างในเมือง
ตักกสิลา เรียนสำเร็จแล้วก็กลับ. ครั้งนั้นมารดาบิดาของอกิตติได้ถึงแก่
กรรม. อกิตติทำฌาปนกิจมารดาบิดาแล้วล่วงไปสองสามวัน ให้ผู้จัดการ
มรดกตรวจตราทรัพย์สิน ครั้นสดับว่า ทรัพย์สินส่วนของมารดา ประมาณ
เท่านี้ ส่วนของบิดาประมาณเท่านี้ ส่วนของปู่ตาประมาณนี้ จึงเกิดสังเวช
ว่า ทรัพย์นี้เท่านั้นยังปรากฏอยู่ แต่ผู้จัดหาทรัพย์มาไม่ปรากฏ ทั้งหมดละ
ทรัพย์นี้ไป แต่เราจักเอาทรัพย์นี้ไป จึงกราบทูลพระราชาให้ตีกลองป่าว
ประกาศว่า ผู้มีความต้องการทรัพย์จงมายังเรือนของอกิตติบัณฑิต.
อกิตติบัณฑิตบริจาคมหาทานตลอด 7 วัน เมื่อทรัพย์ยังไม่หมดจึง
คิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยธนกรีฑานี้แก่เรา ผู้มีความต้องการจักรับตาม
ชอบใจ จึงเปิดประตูเรือนแล้วให้เปิดห้องเก็บสมบัติอันเต็มไปด้วยเงินและ

ทองเป็นต้น ประกาศว่า ชนทั้งหลายจงนำเอาทรัพย์ที่เราให้แล้วไปเถิดแล้ว
ละเรือนไปเมื่อวงศ์ญาติร่ำไห้อยู่ ได้พาน้องสาวออกจากกรุงพาราณสีข้าม
แม่น้ำไป 2-3 โยชน์ ออกบวชสร้างบรรณศาลาอยู่ ณ ภูมิภาคน่ารื่นรมย์
ท่าที่อกิตติดาบสข้ามแม่น้ำไปชื่อ ท่าอกิตติ. พวกมนุษย์ชาวบ้านชาวนิคม
และชาวเมืองหลวงได้ฟังว่า อกิตติบัณฑิตบวชแล้ว ต่างมีใจจดจ่อด้วยคุณ-
ธรรมของอกิตติดาบสจึงพากันบวชตาม. อกิตติดาบสได้มีบริวารมาก. ลาภ
และสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้นดุจพุทธุปาทกาล. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์
ดำริว่า ลาภและสักการะอันมากนี้แม้บริวารก็มาก แม้เพียงกายวิเวกก็ไม่ได้
ในที่นี้ เราควรอยู่แต่ผู้เดียว เพราะเป็นผู้มีความมักน้อยอย่างยิ่ง และเพราะ
เป็นผู้น้อมไปในวิเวกจึงไม่ให้ใคร ๆ รู้ออกไปผู้เดียว ถึงแคว้นทมิฬตามลำดับ
อยู่ในสวนใกล้ท่ากาวีระยังฌานและอภิญญาให้เกิด. แม้ ณ ที่นั้นลาภและ
สักการะใหญ่ก็เกิดขึ้นแก่อกิตติดาบสนั้น. อกิตติดาบสรังเกียจลาภและ
สักการะใหญ่นั้นจึงทิ้งเหาะไปทางอากาศหยั่งลง ณ การทวีป, ในครั้งนั้น
การทวีปมีชื่อว่า อหิทวีป. อกิตติดาบสอาศัยต้นหมากเม่าใหญ่ ณ ที่นั้น
สร้างบรรณศาลาพักอาศัยอยู่. แต่เพราะความเป็นผู้มักน้อยจึงไม่ไปในที่
ไหน ๆ บริโภคผลไม้ในกาลที่ต้นไม้นั้นมีผล เมื่อยังไม่มีผลก็บริโภคใบไม้
ชงน้ำ ยังกาลเวลาให้น้อมไปด้วยฌานและสมาบัติ.
ด้วยเดชแห่งศีลของอกิตติดาบสนั้น ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าว
สักกะนั้นแสดงอาการเร่าร้อน. ท้าวสักกะรำพึงอยู่ว่า ใครหนอประสงค์ให้

เราเคลื่อนจากที่นี้ ทอดพระเนตรเห็นอกิตติบัณฑิตทรงดำริว่า ดาบสนี้
ประพฤติตบะที่ทำได้ยากอย่างนี้เพื่ออะไรหนอ หรือจะปรารถนาความเป็น
ท้าวสักกะ หรือว่าอย่างอื่น เราจักทดลองดาบสนั้นดู. จริงอยู่ดาบสนี้มีความ
ประพฤติทางกายวาจาและใจบริสุทธิ์สะอาด ไม่อาลัยในชีวิต บริโภคใบ
หมากเม่าชงน้ำ หากปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ จักให้ใบหมากเม่าชงน้ำ
ของตนแก่เรา หากไม่ปรารถนาก็จักไม่ให้ จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ไปหา
อกิตติดาบสนั้น. แม้พระโพธิสัตว์ก็รินใบหมากเม่าออกคิดว่าจักบริโภคน้ำ
ใบหมากเม่าเย็น นั่งอยู่ที่ประตูบรรณศาลา. ลำดับนั้นท้าวสักกะมีรูปเป็น
พราหมณ์มีความต้องการภิกษา ได้ยืนข้างหน้าพระดาบส. พระมหาสัตว์
เห็นพราหมณ์นั้นก็ดีใจด้วยคิดว่า เป็นลาภของเราแล้วหนอ เราได้ดีแล้ว
หนอ เราไม่ได้เห็นยาจกมานานะแล้วหนอ คิดต่อไปว่าวันนี้เราจักยังความ
ปรารถนาของเราให้ถึงที่สุดแล้วจักให้ทาน จึงถือเอาด้วยภาชนะที่มีอาหาร
สุกไป แล้วนึกถึงทานบารมี ใส่ลงในภิกษาภาชนะของพราหมณ์นั้นจนหมด.
ท้าวสักกะรับภิกษานั้นไปได้หน่อยหนึ่งก็อันตรธานไป. แม้พระมหาสัตว์
ครั้นให้ภิกษาแก่พราหมณ์นั้นแล้วก็ไม่นึกที่จะแสวงหาอีก ยังกาลเวลาให้
น้อมล่วงไปด้วยปีติสุขนั้นนั่นเอง.
ในวันที่สองท่านอกิตติดาบสนั่งอยู่ที่ประตูบรรณศาลา ก็ต้มใบหมาก
เม่าอีกคิดว่า เมื่อวานนี้เราไม่ได้ทักขิไณยบุคคลวันนี้เราจะได้อย่างไรหนอ
ท้าวสักกะก็เสด็จมาเหมือนเดิม. พระมหาสัตว์ได้ให้ภิกษายังกาลเวลาให้

น้อมล่วงไปเหมือนอย่างนั้นอัก. ในวันที่สามก็ให้อย่างนั้นอีกแล้วคิดว่าน่าปลื้ม
ใจหนอ เป็นลาภของเรา เราประสบบุญมากหนอ หากเราได้ทักขิไณยบุคคล
เราจะให้ทานอย่างนี้ ตลอดเดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง. แม้ในสามวัน
พระดาบสก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า ด้วยทานนั้นเรามิได้ปรารถนา ลาภสักการะ
และความสรรเสริญ ไม่ปรารถนาสมบัติจักรพรรดิ ไม่ปรารถนาสักกสมบัติ
ไม่ปรารถนาพรหมสมบัติ ไม่ปรารถนาสาวกโพธิญาณ ไม่ปรารถนาปัจเจก-
โพธิญาณ ที่แท้ขอทานของเรานี้ จงเป็นปัจจัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณเถิด.
ด้วยเหตุนั้นท่านอกิตติดาบสจึงกล่าวว่า :-
ในกาลนั้นด้วยเดชแห่งการประพฤติตบะ
ของเรา ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ในไตรทิพย์ทรง
ร้อนพระทัย ทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ เข้า
มาหาเราเพื่อภิกษา.

เราได้เห็นพราหมณ์มายืนอยู่ใกล้ประตู
บรรณศาลาของเรา จึงเอาใบหมากเม่าที่เรานำ
มาแต่ป่า อันไม่มีน้ำมันทั้งไม่เค็มให้หมด
พร้อมกับภาชนะ.

ครั้นได้ให้ใบหมากเม่าแก่พราหมณ์นั้น
แล้ว เราจึงคว่ำภาชนะ ละการแสวงหาใบ

หมากเม่าใหม่ เข้าไปยังบรรณศาลา.
แม้ในวันที่สอง แม้ในวันที่สาม พราหมณ์
ก็เข้ามายังสำนักเรา เราไม่หวั่นไหว ไม่อาลัย
ในชีวิต ได้ให้หมดสิ้นเช่นก่อนเหมือนกัน.

ในสรีระของเราไม่มีความหม่นหมอง เพราะ
การอดอาหารนั้นเป็นปัจจัย เรายังวันนั้น ๆ ให้
น้อมไปด้วยความยินดีด้วยปีติสุข.

ผิว่าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคลผู้ประเสริฐ
แม้เดือนหนึ่งสองเดือน เราก็ไม่หวั่นไหว ไม่
ท้อแท้ ฟังให้ทานอันอุดม เมื่อให้ทานแก่
พราหมณ์นั้น เราจะได้ปรารถนายศและลาภ
ก็หามิได้ เราปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ จึง
ได้ประพฤติธรรมเหล่านั้น ฉะนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ตทา คือในกาลที่เราเป็นดาบสชื่อว่าอกิตติ
อยู่ในป่าใบหมากเม่านั้น (การทวีป). บทว่า มํ คือของเรา. บทว่า ตปเตเชน
ด้วยเดชแห่งการบำเพ็ญตบะ คือด้วยอานุภาพแห่งศีลบารมี. จริงอยู่ศีลท่าน
เรียกว่า ตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองอันเกิดแต่ทุจริต. หรือเพราะอานุ-
ภาพแห่งเนกขัมมบารมีและวีริยบารมี. เพราะแม้บารมีเหล่านั้นท่านก็เรียกว่า

ตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองคือตัณหา และความเกียจคร้าน. อนึ่ง
บารมีเหล่านั้นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญอย่างยอดเยี่ยมในอัตภาพนี้. อันที่จริง
ควรจะกล่าวว่า ขนฺติปารมิตานุภาเวน ด้วยอานุภาพแห่งขันติบารมี เพราะ
ขันติสังวรเข้าถึงความยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้
ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง. บทว่า สนฺตตฺโต ท้าวสักกะ
ทรงร้อนพระทัย ความว่า ท้าวสักกะทรงร้อนพระทัยด้วยอาการแสดงความ
เร่าร้อนของปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์อันศักดิ์สิทธิ์ ตามธรรมดาที่เกิดด้วยอานุ-
ภาพของคุณธรรมที่กล่าวแล้ว. บทว่า ติทิวาภิภู ผู้เป็นใหญ่ในไตรทิพย์
คือผู้เป็นใหญ่ในเทวโลกได้แก่ท้าวสักกะ. ใบหมากเม่าแม้ถือเอาในที่ใกล้
บรรณศาลา ท่านกล่าวว่า ปวนา อาภตํ นำมาจากป่า เพราะบรรณศาลา
อยู่ท่ามกลางป่า.
บทว่า อเตลญฺจ อโลณิกํ ไม่มีน้ำมัน ทั้งไม่มีความเค็ม ท่านกล่าว
เพื่อแสดงความรุ่งเรืองอย่างใหญ่หลวงแห่งทานบารมี ด้วยความสมบูรณ์
แห่งอัธยาศัย แม้ไทยธรรมจะไม่ใหญ่โตนัก. บทว่า มม ทฺวาเร คือใกล้
ประตูบรรณศาลาของเรา. ด้วยบทนี้ว่า สกฏาเหน อากิรึ ให้หมดพร้อม
ทั้งภาชนะ ท่านอกิตติดาบสแสดงถึงความที่ตนให้ไม่มีอะไร ๆ เหลือ.
บทว่า ปุเนสกํ ชหิตฺวาน ละการแสวงหาใบหมากเม่าใหม่คือท่าน
อกิตติดาบสคิดว่า การแสวงหาของบริโภควันหนึ่งสองครั้ง ไม่เป็นการขัด
เกลากิเลส จึงไม่แสวงหาอาหารใหม่ในวันนั้น เป็นดุจว่าอิ่มด้วยความอิ่ม
ในทาน.

บทว่า อกมฺปิโต ไม่หวั่นไหว คือ ไม่หวั่นไหวด้วยความตระหนี่
เพราะข่มเสียได้นานมาแล้ว ไม่กระทำแม้เพียงความหวั่นไหวโดยอัธยาศัย
ในการให้. บทว่า อโนลคฺโค ไม่อาลัยในชีวิต คือ ไม่อาลัยแม้แต่น้อยด้วย
ความโลภ. บทว่า ตติยมฺปิ ย่อมประมวลบทนี้ว่า ทุติยมฺปิ ด้วย ปิ ศัพท์.
บทว่า เอวเมวมทาสหํ เราได้ให้หมดสิ้นเช่นวันก่อน คือ แม้ในวันที่สอง
แม้ในวันที่สาม เราก็ได้ให้อย่างนั้นเหมือนในวันแรก.
บทว่า น เม ตปฺปจฺจยตา เพราะการอดอาหารนั้นเป็นปัจจัย คือ
ท่านอกิตติดาบสกระทำความที่กล่าวไว้ในคาถาให้ปรากฏ. ในบทเหล่านั้น
บทว่า ตปฺปจฺจยตา ความว่า เพราะการอดอาหารใน 3 วัน เพราะการ
ให้เป็นปัจจัย จะพึงมีความหม่นหมองอันใดในสรีระ ความหม่นหมองอันนั้น
ในสรีระของเราย่อมไม่มีเพราะการให้เป็นปัจจัยเลย. เพราะเหตุไร เพราะ
เรายังกาลเวลาให้น้อมล่วงไปด้วยปีติสุขตลอด 3 วัน. มิใช่เพียง 3 วันเท่านั้น
อันที่จริงเพื่อแสดงว่า เราพอใจที่จะให้อย่างนั้นได้ตลอดเวลาแม้เดือนหนึ่ง
และสองเดือน ท่านอกิตติดาบสจึงกล่าวว่า ยทิ มาสมฺปิ. บทว่า อโน-
ลีโน
คือไม่ท้อแท้ใจ อธิบายว่า มีใจไม่ท้อถอยในการให้.
บทว่า ตสฺส คือ ท้าวสักกะผู้มาในรูปของพราหมณ์. บทว่า ยสํ
คือ เกียรติ หรือ บริวารสมบัติ. บทว่า ลาภญฺจ คือ เราไม่ปรารถนาลาภ
ที่ควรได้ด้วยความเป็นจักรพรรดิเป็นต้นในเทวโลกและมนุษยโลก ที่แท้เรา
ปรารถนา คือหวังพระสัพพัญญุตญาณ จึงได้ประพฤติคือได้กระทำบุญกรรม

อันสำเร็จด้วยทานอันเกิดขึ้นหลายครั้งใน 3 วันเท่านั้น หรือบุญกรรมมี
กายสุจริตเป็นต้น อันเป็นบริวารของทาน.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประกาศเพียงบุญจริยา ที่ทำได้ยากของ
พระองค์ในอัตภาพนี้แก่พระมหาเถระในวรรคนี้ ด้วยประการฉะนี้. แต่ใน
เทศนาชาดก ท่านประกาศถึงท้าวสักกะเข้าไปหาในวันที่สี่ แล้วทรงทราบ
อัธยาศัยของพระโพธิสัตว์ การประทานพร การแสดงธรรมของพระโพธิ-
สัตว์ด้วยหัวข้อการรับพร และความหวังไทยธรรมและทักขิไณยบุคคล และ
การไม่มาของท้าวสักกะ. สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-
ท้าวสักกะผู้เป็นภูตบดี ทอดพระเนตร
เห็นท่านอกิตติดาบส พักสำราญอยู่ จึงถามว่า
ข้าแต่มหาพรหม พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรจึง
อยู่ผู้เดียวในฤดูร้อน.

ท่านท้าวสักกรินทรเทพ ความเกิดใหม่
เป็นทุกข์ การแตกทำลายแห่งสรีระ เป็นทุกข์
การตายด้วยความหลง เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น
อาตมาจึงอยู่ผู้เดียว.

ข้าแต่ท่านกัสสปะ เมื่อพระคุณเจ้ากล่าว
คำสุภาษิตอันสมควรนี้แล้ว พระคุณเจ้า
ปรารถนาอะไร ข้าพเจ้าจะให้พรนั้นแก่ท่าน.

ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพทั้งหลาย
หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้
คนทั้งหลายได้บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัติ และ
ของเป็นที่รักด้วยความโลภใดแล้วไม่เดือดร้อน
ขอความโลภนั้นไม่พึงอยู่ในอาตมาเลย.

ข้าแต่ท่านกัสสปะ เมื่อพระคุณเจ้ากล่าว
ดีแล้ว ฯลฯ พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก.

ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพทั้งหลาย
หากท่านจะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้
นา ไร่ ทอง โค ม้า ทาสและบุรุษ ย่อม
เสื่อมไปด้วยโทษใด โทษนั้น ไม่ฟังอยู่ใน
อาตมาเลย.

ข้าแต่ท่านกัสสปะ ฯลฯ พระคุณเจ้า
ปรารถนาอะไรอีก.

ท่านท้าวสักกะหากท่านจะให้พรแก่อาตมา
ขอจงให้พรดังนี้ บุคคลไม่พึงเห็น ไม่พึงได้ยิน
คนพาล ไม่พึงอยู่ร่วมด้วยคนพาล ไม่พึง

กระทำ และไม่พึงชอบใจการสนทนาปราศรัย
ด้วยคนพาล.

ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไรท่านจึง
ไม่ชอบคนพาล ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร
พระคุณเจ้าจึงไม่ปรารถนาที่จะเห็นคนพาล.

คนพาลย่อมแนะนำสิ่งไม่ควรแนะนำ
ย่อมขวนขวายในกิจอันไม่ใช่ธุระ คนพาล
แนะนำให้ดีได้ยาก พูดดีหวังจะให้เขาเป็นคน
ประเสริฐกลับโกรธ คนพาลนั้นไม่รู้วินัย การ
ไม่เห็นคนพาลได้เป็นความดี.

ข้าแต่ท่านกัสสปะ พระคุณเจ้าปรารถนา
อะไรอีก.

ท่านท้าวสักกะจอมเทพ หากท่านจะให้
พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ บุคคลพึงเห็น
นักปราชญ์ พึงฟังนักปราชญ์ พึงอยู่ร่วมกับ
นักปราชญ์ พึงกระทำและพึงชอบใจการ
สนทนาปราศรัยกับนักปราชญ์.

ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะเหตุไร พระ-
คุณเจ้าจึงชอบใจนักปราชญ์ ขอจงบอกเหตุนั้น
เพราะเหตุไร พระคุณเจ้าจึงปรารถนาจะเห็น
นักปราชญ์.

นักปราชญ์แนะนำสิ่งที่ควรแนะนำไม่
ขวนขวายในกิจที่มิใช่ธุระ นักปราชญ์แนะนำ
ได้ง่าย พูดหวังจะให้ดีก็ไม่โกรธ นักปราชญ์
ย่อมรู้จักวินัย การสมโคมกับนักปราชญ์เป็น
ความดี.

พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก.
ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ หากท่าน
จะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ เมื่อราตรี
หมดไป ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นเจ้าโลก ของ
บริโภคอันเป็นทิพย์ฟังปรากฏ ผู้ขอฟังเป็นผู้มี
ศีล.

เมื่ออาตมาให้ของบริโภคไม่หมดสิ้นไป
ครั้นให้แล้วอาตมาไม่พึงเดือดร้อน เมื่อให้จิต
พึงผ่องใส ท่านท้าวสักกะขอจงให้พรนี้เถิด.

พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรอีก.
ท่านท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ หากท่าน
จะให้พรแก่อาตมา ขอจงให้พรดังนี้ ท่านไม่
พึงกลับมาหาอาตมาอีก ท่านท้าวสักกะ ขอจง
ให้พรนี้เถิด.

เทพบุตร หรือ เทพธิดา ปรารถนาจะเห็น
ด้วยการประพฤติพรตเป็นอันมาก อะไรจะเป็น
ภัยในการเห็นของอาตมา.

ตบะพึงแตกไป เพราะเห็นสีสรรของ
พวกเทพเช่นนั้น ผู้ล้วนแล้วไปด้วยความสุข
สมบูรณ์ในกามนี้เป็นภัยในการเห็นของพระ-
คุณเจ้า.

ลำดับนั้นท้าวสักกะตรัสว่า ดีแล้วพระคุณเจ้า ตั้งแต่บัดนี้ไปข้าพเจ้า
จักไม่มาหาพระคุณเจ้าอีกแล้ว ทรงกราบพระดาบสนั้นเสด็จกลับไป. พระ-
มหาสัตว์อยู่ ณ การทวีปนั้นตลอดชีวิต เมื่อสิ้นอายุก็ไปบังเกิดในพรหมโลก.
ในครั้งนั้นพระอนุรุทธเถระเป็นท้าวสักกะ. พระโลกนาถเจ้าเป็น
อกิตติบัณฑิต.

ย่อมได้รับบารมี 10 เหล่านี้ คือ ชื่อว่า เนกขัมมบารมี เพราะการ
ออกไปของท่านอกิตติบัณฑิตนั้นเช่นกับมหาภิเนษกรมณ์. ชื่อว่า ศีลบารมี
เพราะมีศีลาจารอันบริสุทธิ์ด้วยดี. ชื่อว่า วีริยบารมี เพราะข่มกามวิตก
เป็นต้นด้วยดี. ชื่อว่า ขันติบารมี เพราะขันติสังวรถึงความยอดเยี่ยมอย่าง
ยิ่ง. ชื่อว่า สัจจบารมี เพราะปฏิบัติตามสมควรแก่ปฏิญญา ชื่อว่า อธิฏ-
ฐานบารมี
เพราะตั้งใจสมาทานไม่หวั่นไหวในที่ทั้งปวง. ชื่อว่า เมตตาบารมี
ด้วยอัธยาศัยเกื้อกูลในสรรพสัตว์ทั้งหลาย. ชื่อว่า อุเบกขาบารมี เพราะ
ถึงความเป็นกลางในความผิดปกติที่สัตว์และสังขารกระทำแล้ว ชื่อว่า
ปัญญาบารมี ได้แก่ปัญญาอันเป็นอุบายโกศลซึ่งเป็นสหชาตปัญญา และ
ปัญญาให้สำเร็จความประพฤติในการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง. เพราะรู้ธรรม
เป็นอุปการะ และธรรมไม่เป็นอุปการะแก่บารมีเหล่านั้น ละธรรมอันไม่
เป็นอุปการะเสีย มุ่งประพฤติอยู่ในธรรมอันเป็นอุปการะ.
เทศนาอันเป็นไปแล้วด้วยทานเป็นประธานอันเป็นความกว้างขวางยิ่ง
นักแห่งผู้มีอัธยาศัยในการให้. เพราะฉะนั้นธรรมเหล่าใดมีประเภทไม่น้อย
เป็นร้อยเป็นพัน เป็นโพธิสมภาร เป็นคุณของพระโพธิสัตว์ มีอาทิอย่างนี้
คือ ธรรมเป็นปฏิญญา 7 มีอาทิ คือ มหากรุณาอันให้สำเร็จในที่ทั้งปวง
บุญสมภาร และญาณสมภาร แม้ทั้งสอง สุจริตของพระโพธิสัตว์ 3 มี
กายสุจริตเป็นต้น อธิฏฐาน 4 มีสัจจาธิษฐานเป็นต้น พุทธภูมิ 4 มีอุตสาหะ
เป็นต้น ธรรมเป็นเครื่องบ่มมหาโพธิญาณ 5 มีศรัทธาเป็นต้น อัธยาศัย

ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย 6 มีอัธยาศัยไม่โลภเป็นต้น เราข้ามได้แล้วจัก
ข้ามต่อไป มหาปุริสวิตก 8 มีอาทิว่า ธรรมนี้ของผู้มีความมักน้อย ธรรมนี้
มิใช่ของผู้มีความมักใหญ่ ธรรมมีโยนิโสมนสิการเป็นมูล 9 อัธยาศัยของ
มหาบุรุษ 10 มีอัธยาศัยในการให้เป็นต้น บุญกิริยาวัตถุ 10 มีทานและ
ศีลเป็นต้น. ธรรมเหล่านั้นแม้ทั้งหมดควรกล่าวเจ้าจงไปในที่นี้ตามสมควร.
อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบคุณานุภาพของพระมหาสัตว์ มีอาทิอย่างนี้
คือ การละกองสมบัติใหญ่ และวงศ์ญาติใหญ่ แล้วออกจากเรือนเช่นกับ
มหาภิเนษกรมณ์ ครั้นออกไปแล้ว เมื่อบวชซึ่งชนเป็นอันมากรับรู้แล้ว ก็
ไม่เกี่ยวข้องในตระกูล ในคณะเพราะเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง รังเกียจลาภ
สักการะและความสรรเสริญสิ้นเชิง ยินดีในความสงัด วางเฉยในร่างกาย
และชีวิตเสียสละ อดอาหาร ยินดีด้วยความอิ่มในทาน แม้ 3 วัน ร่างกาย
ยังเป็นไปได้ไม่ผิดปกติ เมื่อมีผู้ขอก็ให้อาหารอยู่อย่างนั้น เดือนหนึ่งสอง
เดือน ประพฤติไม่ท้อถอยในการบริจาคมีอัธยาศัยในการให้อย่างกว้างขวาง
ด้วยคิดว่า เราจักยิ่งร่างกายให้เป็นไปอยู่ได้ด้วยปีติสุขอันเกิดจากการให้เท่า
นั้น ครั้นให้ทานแล้วก็ประพฤติขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นไม่เป็นเหตุให้ทำการ
แสวงหาอาหารใหม่. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า :-
น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วพระมหาสัตว์
ทั้งหลายเป็นผู้แสวงหาคุณธรรมใหญ่หลวง มี
มหากรุณาเป็นนักปราชญ์ เป็นเผ่าพันธุ์เอก
ของสรรพโลก.

พระมหาสัตว์ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ มีอานุ-
ภาพเป็นอจินไตย มีพระสัทธรรมเป็นโคจรใน
กาลทุกเมื่อ มีความประพฤติขัดเกลากิเลส
อย่างหมดจด.

พายุใหญ่ มหาสมุทรมีคลื่นซัดเป็นวง-
กลม พระโพธิสัตว์กระโดดข้ามแดนนั้นไปได้
ไม่ใช่เรื่องธรรมดา.

พระมหาสัตว์เหล่านั้น แม้เป็นผู้เจริญ
โดยสัญชาตในโลก เป็นผู้อบรมดีแล้วก็ไม่ติด
ด้วยโลภธรรมทั้งหลาย เหมือนประทุมไม่ติด
ด้วยน้ำฉันนั้น.

ความเสน่หาเพราะกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย
ย่อมเจริญโดยประการที่ละความเสน่หาในตน
ออกไปของพระมหาสัตว์ทั้งหลาย.

กรรมย่อมอยู่ในอำนาจ ทั้งไม่เป็นตาม
อำนาจของธรรม เหมือนจิตย่อมอยู่ในอำนาจ
ทั้งไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต ฉะนั้น.

พระมหาสัตว์เหล่านั้น เที่ยวแสวงหา
โพธิญาณอันโทสะไม่ครอบงำ หรือไม่เกิดขึ้น
ดังบุรุษทั้งหลายรู้ถึงความเสื่อม.

แม้จิตเลื่อมใสในท่านเหล่านั้น ก็พึงพ้น
จากทุกข์ได้ จะพูดไปทำไมถึงการทำตามท่าน
เหล่านั้นโดยธรรมสมควรแก่ธรรมเล่า.

จบ อรรถกถาอกิตติจริยาที่ 1

2. สังขพราหมณจริยา


ว่าด้วยจริยาวัตรของสังพราหมณ์


[2] อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราเป็นพราหมณ์มีนามว่า
สังขะ ต้องการจะข้ามมหาสมุทรไปอาศัยปัฏ-
ฏนคามอยู่ ในกาลนั้น เราได้เห็นพระปัจเจก-
พุทธเจ้าผู้รู้เอง ใคร ๆ ชนะไม่ได้ ซึ่งเดินสวน
ทางมาตามทางกันดาร บนภาคพื้นอันแข็ง ร้อน
จัด ครั้นเราเห็นท่านเดินสวนทางมา จึงคิด
เนื้อความนี้ว่า บุญเขตนี้มาถึงแก่เราผู้เป็นสัตว์
ที่ต้องการบุญ เปรียบเหมือนบุรุษชาวนา เห็น
นาอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ( เป็นที่น่ายินดีมาก)
ไม่ปลูกพืชลงในนานั้น เขาชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต้อง
การด้วยข้าวเปลือกฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือน
กัน เป็นผู้ต้องการบุญ เห็นเขตบุญอันประ-
เสริฐสุดแล้ว ถ้าไม่ทำบุญ คือสักการะ เราก็ชื่อ
ว่าเป็นผู้ไม่ต้องการบุญ เปรียบเหมือนอำมาตย์
ต้องการจะให้ชนชาวเมืองของพระราชายินดี
แต่ไม่ให้ทรัพย์และข้าวเปลือกแก่เขา ก็ย่อม